วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรือ นกยูงทอง ที่ ซี.เอส.ปัตตานี

ขอสันติจงมีแด่ทุกท่าน
     เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรมชายแดนใต้ นัดรวมพลสมาชิกกลุ่มเพื่อร่วมกันทำงานวิจัยเรื่อง  “ภูมิวัฒนธรรม” ที่โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงานด้วย
     โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี เป็นโรงแรมอันดับต้นๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลาที่มีการจัดเวทีสัมมนาฯ, อบรม, การทำงานทางวิชาการ หรือแม้กระทั่งการต้อนรับแขกเมืองที่มาจากต่างแดน โรงแรม ซี.เอส.มักจะเป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆเสมอ ดังนั้นโรงแรม ซี.เอส.จึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการทั้งภายในและภายนอกจังหวัด
     โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานีนั้น ผมเข้าใจเอาเองว่า ทางโรงแรมคงตั้งใจจะเน้นการตกแต่งภายใน ในบรรยากาศแบบมลายู โดยเฉพาะมลายูปตานี แต่เมื่อผมเดินเข้าไปในบริเวณโถงต้อนรับภายในโรงแรม ผมแทบจะไม่พบของตกแต่งใดๆที่เป็นมลายูปตานีเลย ยกเว้นกรงนกหัวจุก แม้กระทั่งเพลงบรรเลงที่เปิดวนไปวนมาทั้งวันภายในลิฟท์และโถงทางเดิน ที่ผมคาดหวังว่าจะได้ยินการบรรเลงเพลงมลายูปตานี โดย แวขาเดร์ ศิลปินแห่งชาติชาวปัตตานี ก็กลับกลายเป็นเพลง Kacapi - Suling ของซุนดาในชวาตะวันตก (Jawa Barat)
     แต่สิ่งที่เห็นแล้วถึงกับต้องหยุดดู ก็คือ เรือไม้โบราณที่ตั้งเด่นอยู่กลางห้องโถง มีป้ายเล็กๆอยู่ด้านในลำเรือเขียนติดคำอธิบายว่า “เรือ Merak Mas แปลว่า เรือนกยูงทอง เป็นเรือที่ใช้ในกลันตัน” ซึ่งผมก็เข้าใจเอาเองอีกว่า คงจะพยายามเชื่อมโยงให้เข้าใจว่า ศิลปะแบบกลันตันก็คือศิลปะแบบปตานี เป็นศิลปะแบบเดียวกันที่แยกแทบไม่ออก
     ที่จริงแล้ว นกยูงไม่ได้เป็นศิลปะของมลายู ทั้งในปตานี กลันตันและตรังกานู นกที่ใช้ในงานศิลปกรรมของมลายูแถบนี้ในอดีต คือ Burong Gagak Suara (บุรงฆาเฆาะอ์ซูรอ) ซึ่งเป็นนกในวรรณคดี คล้ายๆกับนกหัสดีลึงค์ในวรรณคดีไทย ส่วนเรือในโถงโรงแรม ซี.เอส.ที่อธิบายว่าเป็นเรือ Merak Mas นั้น ที่จริงคือ Perahu Sekoci ซึ่งเป็นเรือประมงขนาดเล็กสำหรับตกปลา ไดหมึก และลากอวน ที่นิยมใช้กันในเมืองตรังกานู

                          
เรือ Merak Mas ตั้งแสดงที่ โรงแรม ซี.เอ.ปัตตานี 


เรือ Sekoci ตั้งแสดงที่ Museum Negara: Kuala Lumpur Malaysia

Wa Allahu A’lam
Ibn. Ahmad
February 22, 2012

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ข้อสงสัยเกี่ยวกับตำนาน เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ขอสันติจงมีแด่ท่านผู้อ่าน


ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
กำเนิดในครอบครัวตระกูลลิ่ม สมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง(1)  ประมาณ พ.ศ.2065- 2109 มีพี่ชายชื่อ ลิ่มโต๊ะเคี่ยม รับราชการอยู่มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อบิดาถึงแก่กรรมลิ้มกอเหนี่ยว ต้องเฝ้าดูแลมารดาเพียงลำพังเนื่องจากลิ่มโต๊ะเคี่ยม ถูกขุนนางใส่ร้ายว่าสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น(2) เข้าปล้นตีเมืองตามชายฝั่ง จึงถูก ทางราชการประกาศจับ และได้หลบหนีออกจากประเทศจีนกับพรรคพวกไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน(3) ต่อมาได้นำสินค้ามาขายที่ประเทศไทย(4)  ขึ้นท่าสุดท้ายที่เมืองปัตตานี บ้านกรือเซะ   และมีความรู้เป็นนายช่าง ผู้หล่อปืนใหญ่ 3 กระบอก คือ ศรีนครี มหาลาลอ และนางพระยาตานี (5) ให้เจ้าเมืองปัตตานี ขณะนั้นเป็นที่พอพระทัยมาก จึงยกพระธิดาให้สมรสด้วย(6)  โดย ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม(7)  
          หลายปีต่อมามารดาซึ่งอยู่ที่ประเทศจีน ไม่เห็นบุตรชายกลับมาและไม่ส่งข่าว(8)  ก็มีความคิดถึงเป็นห่วงไม่เป็นอันกินอันนอน ลิ้มกอเหนี่ยวสงสารมารดา จึงรับอาสามารดาออกติดตามพี่ชาย ออกเดินทางโดยเรือสำเภา ติดตามมาจนถึงประเทศไทย และได้พบพี่ชายที่บ้านกรือเซะ ได้พำนักอยู่เป็นเวลานานและชักชวนให้พี่ ชายกลับประเทศจีนพบมารดาหลายครั้ง แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมปฎิเสธ เนื่องด้วยกำลังเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ(9)  ขณะนั้น   ด้วยความกตัญญูต่อมารดาไม่อาจนำพี่ ชายกลับบ้านได้ จึงได้ทำอัตตวิบากกรรมที่ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์(10)  ใกล้กับมัสยิด ลิ้มโต๊ะเคี่ยมกับพวกต่างโศกเศร้าอาลัยยิ่ง จึงพร้อมกันจัดการศพตามประเพณีและได้ทำ ฮวงซุ้ยไว้ในบริเวณ บ้านกรืเซะ ตำบลตันหยงลุโล๊ะ อำเภอเมืองปัตตานี ดังกล่าว
              บรรดาคนจีนสมัยนั้น ได้ทราบซึ้งถึงความกตัญญู ซื่อสัตย์ และรักษาคำมั่นสัญญา ไปกราบไหว้บูชา ต่อมาฮวงซุ้ย และต้นมะม่วงหิมพานต์ ได้เกิดนิมิตรและอภินิหาร ให้ชาวบ้านที่ไปบนบาน หายเจ็บไข้ได้ป่วย และมีโชคลาภ ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพสักการะ มาจนบัดนี้ไม่ได้มีการย้ายฮวงซุ้ยแต่อย่างใด(11) ต่อมาได้นำเอาต้นมะม่วงหิมพานต์ มาแกะสลักเป็นองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประดิษฐานไว้ในศาลเจ้าที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโล๊ะ ให้ประชาชนสักการะ บูชาด้วย  
             เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2427 พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนจีนขณะนั้น เห็นว่าศาลเจ้าซึ่งประดิษฐานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่หมู่บ้านกรือเซะ ชำรุดเก่าและอยู่ห่างไกลเป็นระยะทางถึงประมาณ 8 กิโลเมตร จากเมือง จึงได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากบ้านกรือเซะมาประดิษฐานที่ศาล เจ้าโจวซูกงซึ่งอยู่ในตลาดจีนเมืองปัตตานี   และเรียกชื่อศาลเจ้าใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว มาจนทุกวันนี้
ที่มา : website ศาลเจ้าเล่งจูเกียงปัตตานี        http://www.limkoneaw.com




ลำดับเหตุการณ์
1.       สมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง  ประมาณ พ.ศ.2065- 2109 ลิ่มโต๊ะเคี่ยมถือกำเนิด
2.       ลิ่มโต๊ะเคี่ยม รับราชการอยู่มณฑลฮกเกี้ยน
3.       ลิ่มโต๊ะเคี่ยมถูกขุนนางใส่ร้ายว่าสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น จึงถูก ทางราชการประกาศจับ
4.       ลิ่มโต๊ะเคี่ยมหลบหนีออกจากประเทศจีนกับพรรคพวกไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน
5.       บิดาถึงแก่กรรม ลิ้มกอเหนี่ยวต้องเฝ้าดูแลมารดาเพียงลำพัง
6.       ลิ่มโต๊ะเคี่ยมได้นำสินค้ามาขายที่ประเทศไทย
7.       ขึ้นท่าสุดท้ายที่เมืองปัตตานี บ้านกรือเซะ
8.       เป็นนายช่าง ผู้หล่อปืนใหญ่ 3 กระบอก คือ ศรีนครี มหาลาลอ และนางพระยาตานี ให้เจ้าเมืองปัตตานี
9.       เจ้าเมืองปัตตานี ขณะนั้นพอพระทัยลิ่มโต๊ะเคี่ยมมาก จึงยกพระธิดาให้สมรสด้วย โดยลิ้มโต๊ะเคี่ยมยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม
10.   มารดาลิ่มโต๊ะเคี่ยมซึ่งอยู่ที่ประเทศจีน ไม่เห็นบุตรชายกลับมาและไม่ส่งข่าวก็มีความคิดถึงเป็นห่วงไม่เป็นอันกินอันนอน 
11.   ลิ้มกอเหนี่ยวสงสารมารดา จึงรับอาสามารดาออกติดตามพี่ชาย ออกเดินทางโดยเรือสำเภา ติดตามมาจนถึงประเทศไทย และได้พบพี่ชายที่บ้านกรือเซะ
12.   ในขณะนั้น ลิ่มโต๊ะเคี่ยมกำลังเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ
13.   ลิ้มกอเหนี่ยวได้พำนักอยู่ที่กรือเซะเป็นเวลานานและพยายามชักชวนให้พี่ชายกลับประเทศจีน แต่ลิ่มโต๊ะเคี่ยมไม่สามารถกลับได้ เพราะติดภารกิจในการสร้างมัสยิด
14.   ลิ้มกอเหนี่ยวได้ทำอัตตวิบากกรรมที่ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้กับมัสยิด
15.   ลิ้มโต๊ะเคี่ยมกับพวกต่างโศกเศร้าอาลัยยิ่ง จึงพร้อมกันจัดการศพตามประเพณีและได้ทำ ฮวงซุ้ยไว้ในบริเวณบ้านกรืเซะ ตำบลตันหยงลุโล๊ะ อำเภอเมืองปัตตานี 
16.   บรรดาคนจีนสมัยนั้น ได้ทราบซึ้งถึงความกตัญญู ซื่อสัตย์ และรักษาคำมั่นสัญญา ไปกราบไหว้บูชา
17.   ต่อมาฮวงซุ้ย และต้นมะม่วงหิมพานต์ ได้เกิดนิมิตรและอภินิหาร ให้ชาวบ้านที่ไปบนบาน หายเจ็บไข้ได้ป่วย และมีโชคลาภ ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพสักการะ
18.   มีการเอาต้นมะม่วงหิมพานต์ มาแกะสลักเป็นองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประดิษฐานไว้ในศาลเจ้าที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโล๊ะ ให้ประชาชนสักการะ บูชา
19.   ประมาณ ปี พ.ศ.2427 พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนจีนขณะนั้น ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากบ้านกรือเซะมาประดิษฐานที่ศาล เจ้าโจวซูกงซึ่งอยู่ในตลาดจีนเมืองปัตตานี
ข้อสังเกต
1.       ตำนานนี้ของศาลเจ้าเล่งจูเกียงในปัจจุบัน ไม่ได้กล่าวถึงการสาปไม่ให้ก่อสร้างมัสยิดได้สำเร็จ (เดิมมีการเล่าถึงคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวว่าไม่ให้ลิ้มโต๊ะเคียมสร้างมัสยิดกรือเซะได้สำเร็จ)
2.       บัดนี้ไม่ได้มีการย้ายฮวงซุ้ยแต่อย่างใด(11) ตามเนื้อเรื่องที่ขยายความโดย website ศาลเจ้าเล่งจูเกียงปัตตานี ขัดแย้งกับเรื่องของชาวบ้านในชุมชนนั้น ที่ว่า สุสานเดิมของลิ้มกอเหนี่ยว อยู่ริมชายทะเล ปัจจุบันได้ถูกน้ำทะเลท่วมแล้ว แต่ก็ยังสามารถเห็นได้ในเวลาน้ำลด
                ข้อคิดเห็นที่ 1
(1)  สมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ประมาณ พ.ศ.2065- 2109  คือ จักรพรรดิเจียจิ้ง พระนามแต่งตั้งว่า ซื่อจง(世宗, Shìzōng) รัชศก เจียจิ้ง (嘉靖, Jiājìng)ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2064 - 2109 หรือ ค.ศ.(1521 - 1566) และตรงกับ ช่วงรัชสมัย ของรายาอินทิรา หรือรายามูฮัมหมัดชาห์ (พ.ศ. 2043-2073) และ รายามุซซอฟาร์ (พ.ศ. 2073-2106) ราชวงศ์ศรีวังสา ของเมืองปตานี
                ข้อคิดเห็นที่ 2
                จากข้อความที่ว่า เจ้าเมืองปัตตานี ขณะนั้นเป็นที่พอพระทัยมาก จึงยกพระธิดาให้สมรสด้วย(6) แสดงว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นพระราชบุตรเขยของรายามูฮัมหมัดชาห์ หรือ อาจจะเป็นพระราชบุตรเขยของรายามุซซอฟาร์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจจะเป็นบุตรเขยของชนชั้นสูงในราชสำนักปตานี
                เหตุใดจึงมีการยกบุตรีจากตระกูลของชนชั้นสูง หรือราชนิกูลปตานีให้กับชาวจีนโพ้นทะเลที่หลบหนีอาญาแผ่นดิน (จากข้อความที่ว่า ถูกขุนนางใส่ร้ายว่าสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น(2) และ หลบหนีออกจากประเทศจีนกับพรรคพวกไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน (3)) และยังเป็นคนจีนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม (เป็น กาเฟร) (ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม (7)) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของคนมลายู โดยเฉพาะชนชั้นสูง ซึ่งมักจะแต่งงานในวงเครือญาติ และตระกูลที่มีศักดิ์เสมอกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ในขณะนั้นไม่มีชายมลายูมุสลิมใดในเมืองปตานีหรือเมืองใกล้เคียงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมบ้างเลยหรือ ถึงได้ยกบุตรีให้คนจีนโพ้นทะเล ที่เร่ร่อนมาอาศัยเมืองปตานีและยังมีคดีติดตัวมาด้วย นอกเสียจาก ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เด่นล้ำในด้านใดด้านหนึ่งที่หาได้ยากในเมืองปตานี เช่น
·         เป็นนายวานิชย์ที่มั่งคั่ง
·         เป็นผู้ที่มีฝีมือในการรบ
·         เป็นอุลามาอ์ทางศาสนา (ปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม)
·         เป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคนิคเฉพาะด้าน
ในตำนานหลายๆตำนานที่เกี่ยวกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว รวมทั้งไม่เคยพบบันทึกใดๆที่กล่าวถึง ลิ้มโต๊ะเคี่ยมว่าเป็นคนที่ร่ำรวยหรือมีอำนาจใดๆที่จะเอื้ออำนวยต่อการการค้าขาย หรือเอื้อต่อการมีอำนาจในทางใดทางหนึ่ง และก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะเป็นอูลามะอ์ทางศาสนาอิสลาม
เรื่องที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ ลิ้มโต๊ะเคียม เป็นนายช่างที่ชำนาญการก่อสร้าง ดังที่ปรากฏในตำนานเรื่องนี้ว่า มีความรู้เป็นนายช่าง ผู้หล่อปืนใหญ่ 3 กระบอก คือ ศรี นครี มหาลาลอ และนางพระยาตานี (5) และ เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ (9)
ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงตามตำนาน ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเรียนรู้การสร้างปืนใหญ่จากไหน จริงอยู่ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาจากเมืองจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ย่อมรู้จักและอาจจะเคยใช้ปืนใหญ่มาก่อน มีการรู้จักการใช้ดินระเบิด เพราะดินระเบิดก็เป็นการคิดค้นโดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวจีน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับเทคโนโลยีการหล่อปืนใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชี่ยวชาญของชาวยุโรปและเอเซียกลาง ตั้งแต่คอนสแตนติโนเปิลไปจนถึงเปอร์เซีย มีการใช้อย่างแพร่หลายรอบๆบริเวณนี้ในสงครามครูเสด แต่การใช้ปืนใหญ่ไม่ได้เป็นเทคนิคที่ชาวจีนนิยมกันมากนัก การที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนจะมีความชำนาญในการหล่อปืนใหญ่ น่าจะยังเป็นที่สงสัยอยู่
ทีนี้ ถ้าหากเราไปดูรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มัสยิดกรือเซะ และมัสยิดอีกแห่งที่ดาโต๊ะซึ่งสร้างในสมัยสุลต่าน มุซ็อฟฟัร ชาห์ หรือ รายามุซซอฟาร์ ซึ่งร่วมสมัยกัน ก็ไม่ปรากฏว่า มีศิลปะแบบจีนเข้ามาผสมผสานในมัสยิดทั้งสองแห่งนี้เลย แต่มัสยิดทั้งสองแห่งนี้กลับปรากฏว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบเอเซียกลางและไบเซนไทน์มากกว่า ซึ่งออกจะเชื่อได้ยากว่า นายช่างชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนจะสามารถสร้างงานทางสถาปัตยกรรมที่หลุดพ้นจากอิทธิพลของศิลปะจีนไปได้โดยสิ้นเชิง
จากข้อสังเกตนี้ทำให้มีสมมุติฐานว่า
1.        ลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ได้เป็นผู้สร้างมัสยิดกรือเซะ
2.        ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้สร้างมัสยิดกรือเซะจริง แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ได้มาจากมณฑลมณฑลฮกเกี้ยน แต่ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของเอเชียกลางนั้น อาจจะตั้งสมมุติฐานได้ว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอาจจะมีพื้นเพเดิมมาจากมณฑลซินเกียง อุยกูร ซึ่งเป็นดินแดนของชาวจีนมุสลิม ที่มีการติดต่อกับอารเบีย เอเชียกลาง และไบเซไทน์เดิม (ภายหลังถูกยึดครองโดยเติร์ก)โดยผ่านเส้นทางสายไหม
ข้อคิดเห็นที่ 3
จากข้อความในตำนานที่ว่า “หลบหนีออกจากประเทศจีนกับพรรคพวกไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน(3) ต่อมาได้นำสินค้ามาขายที่ประเทศไทย (4) ขึ้นท่าสุดท้ายที่เมืองปัตตานี บ้านกรือเซะ” นั้น เหตุใดลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงไม่ตั้งรกรากหรือตั้งถิ่นฐานที่เมืองอื่น แทนที่จะมาตั้งรกรากที่ปตานี   
การที่จะตั้งถิ่นฐานที่เกาะไต้หวัน คงจะไม่ปลอดภัย เพราะยังอยู่ใกล้กับอาณาจักรจีนมากเกินไป คงได้แค่หลบหลีเพื่อตั้งหลักชั่วคราว
แต่ จากข้อความที่ว่า นำสินค้ามาขายที่ประเทศไทย (4) แสดงว่ามีลู่ทางการทำการค้ากับไทย (หมายถึงอยุธยาหรือเปล่า หรือหมายถึงเพชรบุรี นครศรีธรรมราช หรือสงขลา) แสดงว่าสามารถหลบพ้นจากเงื้อมมือของทางการจีนได้แล้ว และยังสามารถประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลักแหล่ง ซึ่งน่าจะมีความปลอดภัยและมั่นคงต่อชีวิตพอสมควร
ถ้าหากว่าขณะนั้นลิ้มโต๊ะเคี่ยมยังไม่ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ลิ้มโต๊ะเคี่ยมน่าจะตั้งรกรากที่ อยุธยา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และ สงขลา มากกว่าปตานี เพราะ เมืองดังกล่าวเป็นเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่กลับมาตั้งรกรากที่ปตานีซึ่งเป็นเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม และปตานีในขณะนั้น ก็ยังไม่ได้เป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองมากนัก เพราะจากข้อความที่ว่า สมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง(1)  ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเกิด ตรงกับ ช่วงรัชสมัย ของรายาอินทิรา หรือรายามูฮัมหมัดชาห์ (พ.ศ. 2043-2073) หรืออาจะเป็นช่วงรัชสมัยของ รายามุซซอฟาร์ (พ.ศ. 2073-2106) ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาถึงปตานี ซึ่งเป็นก่อนยุคทองของปตานีในช่วงรัชสมัยของราชินีฮิเยา ราชินีบีรู ราชินีอูงูและราชินีกูนิง ที่ปตานีมีการค้าที่รุ่งเรือง
ข้อคิดเห็นที่ 4
จากการเล่าขานของชาวบ้าน เล่าว่า สุสานของลิ้มกอเหนี่ยว อยู่ริมชายทะเล ปัจจุบันได้ถูกน้ำทะเลท่วมแล้ว แต่กยังสามารถเห็นได้ในเวลาน้ำลด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดลิ้มโต๊ะเคี่ยม ไม่จัดการเลือกทำเลฮวงซุ้ยให้ลิ้มกอเหนี่ยวผู้เป็นน้องสาวให้ตรงตามลักษณะฮวงซุ้ยที่เหมาะสมกว่านี้ แต่กลับจัดการฝังศพแบบกุโบร์ของอิสลาม
ข้อคิดเห็นที่ 5
ข้อขัดแย้งในตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คงจะอธิบายได้ง่ายขึ้น ถ้าหากว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นจีนมุสลิมที่มากจากมณฑลซินเกียง เป็นมุสลิมก่อนที่มาจะมาถึงดินแดนปตานี คงจะอธิบายได้ว่า
1.        ทำไมเจ้าเมืองถึงยกบุตรี
2.        ทำไมลิ้มโต๊ะเคี่ยมสามารถที่จะสร้างมัสยิดกรือเซะ ในรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบเอเชียกลางและไบเซนไทน์
3.        ทำไมลิ้มโต๊ะเคี่ยม ถึงมีเทคโนโลยีในการสร้างปืนใหญ่
4.        และ ทำไมลิ้มโต๊ะเคี่ยม ถึงเลือกปตานีเป็นที่ตั้งรกราก
ข้อคิดเห็นที่ 6
ถ้าหากว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นมุสลิมดั้งเดิมจากแผ่นดินจีน ก็คงจะมีการแก้ไขเรื่องราวในตำนานและทางประวัติศาสตร์กันอีกมากมาย เช่น
1.       ลิ้มกอเหนี่ยว จะถือกำเนิดในครอบครัวมุสลิม และก็คงจะเป็นมุสลีมะห์
2.       ถ้าลิ้มกอเหนี่ยวเป็นมุสลีมะห์ คงจะไม่สาปแช่งมัสยิดกรือเซะ
3.       ลิ้มกอเหนี่ยว คงจะไม่ผูกคอตาย เพราะการอัตตวิบากกรรม เป็นข้อห้ามร้ายแรงของอิสลาม
4.       ก็คงจะเป็นที่เข้าใจได้ว่า สุสานเดิมของลิ้มกอเหนี่ยวที่ริมฝั่งทะเล ทำไมจึงมีลักษณะเป็นกุโบร์มากกว่าฮวงซุ้ย ทั้งในรูปลักษณ์ และทำเลการตั้งฮวงซุ้ย (ปกติฮวงซุ้ยมักจะไม่อยู่บนชายฝั่งทะเล แต่นิยมที่จะเลือกทำเลที่ด้านหลังเป็นภูเขา ด้านหน้ามองเห็นทะเล)
บทสรุป
ข้อคิดเห็นต่างๆในเรื่องนี้ มาจากข้อสงสัยส่วนตัวของผม ที่อ่านเรื่องราวในตำนาน ตลอดจนอ่านบทความของนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการหลายท่านที่เขียนถึงเรื่องนี้ อย่างการอาศัยความเชื่อในตำนานและความรู้สึกของความเป็นเผ่าพันธุ์นิยมเป็นหลัก ทั้งๆที่ไม่เคยมีใครสามารถที่จะแสดงเอกสาร บันทึก หรือหลักฐานเบื้องต้นใดๆมาแสดงได้
บทความชิ้นนี้ ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการปะทะกันทางศาสนาและวัฒนธรรม แต่มุ่งหวังในการวิเคราะห์โดยอาศัยหลักฐานและหลักเหตุผลเป็นหลัก แน่นอนว่าผมไม่ได้ยืนยันว่าข้อคิดเห็นของผมถูกต้อง แต่เป็นเพียงการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากที่เคยมอง เป็นการมองโดยอาศัยตรรกะ ไม่ใช่การเชื่อแบบ “โบราณท่านว่า”
ชาวมุสลิมปัตตานี ควรที่จะขอบคุณตำนานเรื่องเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวของพระจีนคุณานุรักษ์ฉบับนี้ และรวมถึงตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวฉบับอื่นๆที่มีการเผยแพร่ เพราะจากตำนานเรื่องนี้เองที่มีส่วนอย่างมากต่อกระแสการตื่นตัวเพื่ออนุรักษ์และปกป้องมัสยิดกรือเซะ จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลของตนถูกต้องทั้งหมด เพราะไม่มีใครสักคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์และเป็นประจักษ์พยานในเรื่องราวเหล่านั้น
วัลลอฮ์ฮุอะอ์ลัม..... อัลลอฮ์เท่านั้นที่ทรงรู้จริง

Ibn. Ahmad
February 5, 2012

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อิบนุ ซัรดาน ชาวอาหรับที่เดินทางมาสู่เมืองเคดาห์

ขอสันติจงมีแด่ท่านผู้อ่าน



            หินขนาด 19 cm x 37 cm. ก้อนนี้ถูกพบที่ Lembah Bujang, Kedah ประเทศมาเลเซีย มีสลักคำว่า อิบนุ ซัรดาน 213 เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เมื่อ ฮศ. 213 หรือ คศ.823 หรือราวๆ พ.ศ.1366 ชาวอาหรับได้เดินทางมาถึงเมืองเคดาห์แล้ว
            อิบนุ ซัรดานเป็นนักเดินเรือ และนักเผยแพร่ศาสนาชาวอาหรับ ในยุคสมัยของ ราชวงศ์อับบาซิด จากกรุงบัฆดัร และจากหลักฐานชิ้นนี้ ทำให้ทราบได้ว่า ชาวอาหรับและศาสนาอิสลามได้เดินทางมาถึงเมืองเคดาห์ เมื่อ คศ.823 เป็นอย่างน้อย และนับจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) เป็นเวลา ไม่ต่ำกว่า 1189 ปีมาแล้ว
            ปัจจุบัน หินก้อนนี้ถูกเก็บรักษาที่ Musium Negara กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย            
            Wallahu A'lam

                                                                                                             Ibn. Ahmad

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ระเด่นอาหมัด ราชนิกูลปตานี หรือ ชวา ?

ขอสันติจงมีแด่ท่านผู้อ่าน
 
        ตระกูล “ระเด่นอาหมัด” เป็นหนึ่งในสองตระกูลราชนิกูลปตานี ที่สืบทอดเชื้อสายจาก สุลต่านสุไลมาน ชารีฟุดดีน นอกเหนือจาก สกุล “สุไลมาน”
        คำว่า “ระเด่น” หรือ  Raden เป็นคำที่มาจากภาษาชวา แปลว่า “เจ้าชาย” ดังนั้น คำว่า ระเด่นอาหมัด จึงแปลว่า “เจ้าชายอาหมัด” ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการใช้คำว่าระเด่นในภาษามลายู ทั้งในมาเลเซียและปัตตานี จึงเป็นที่สงสัยว่าเจ้าชายจากชวา มาเกี่ยวข้องกับราชนิกูลปตานีได้อย่างไร จนถึงกับกลายมาเป็นหนึ่งในสายตระกูลสำคัญของปัตตานี
        ประวัติศาสตร์ภายในตระกูลระเด่นอาหมัด ที่ได้รับฟังจากการบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของ นิอูมา ระเด่นอาหมัด ชายชราวัย 80 กว่าปี ผู้ซึ่งคงจะเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุดในสายตระกูลระเด่นอาหมัดในปัจจุบัน ว่า ต้นสายตระกูลระเด่นอาหมัดในปัตตานี เริ่มจากบุคคลที่ชื่อ ฮัจญีนิอับดุลกอเดร์ หรือ ฮัจญีนิเดร์ ซึ่งเคยเป็นโต๊ะกอฎีของจังหวัดปัตตานี และ เป็นโต๊ะครูสอนศาสนาอิสลาม
        เดิมทีนั้น บ้านเดิมของฮัจญีนิเดร์ หรือ ฮัจญีนิอับดุลกอเดร์ อยู่ที่ บ้าน Pekan เมือง Kelantan โดยท่านเป็นโต๊ะครูสอนศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงที่กลันตันอยู่แล้ว และจากชื่อเสียงของท่านที่มาถึงปตานีนี้เองที่ทำให้ท่านได้รับการทาบทามจาก สุลต่านสุไลมาน ชารีฟุดดีน เจ้าเมืองปตานีให้มาสอนสาสนาอิสลามที่เมืองปตานี โดยที่สุลต่านสุไลมาน ชารีฟุดดีน ได้ยกที่ดินบริเวณบ้านตะลุโบ๊ะให้ฮัจญีนิเดร์ทำการเปิดปอเนาะเพื่อสอนศาสนาอิสลามในเมืองปตานี และสุลต่านสุไลมาน ยังได้ยก “นิม๊ะ” ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมมารดาให้เป็นภรรยาของฮัจญีนิเดร์อีกด้วย
        เมื่อสืบสาแหรกตระกูลของฮัจญีนิเดร์นั้น ปรากฏว่า ฮัจญีนิเดร์ เป็นทายาทที่สืบสายตระกูลมาจาก “ระเด่นอาหมัด” จากชวาจริง โดยที่ระเด่นอาหมัดที่กล่าวถึงนี้ คือ Raden Ahmad เป็นระเด่นจากเมือง Banten ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในเขต Jawa Barat หรือ ชวาตะวันตกของอินโดนีเซีย
        Raden Ahmad ผู้นี้ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าชายแห่งบันเตินอย่างเดียว แต่ยังมีสถานะทางสังคมอีกสถานะหนึ่งคือ ท่านเป็นอุลามาอ์ หรือปราชญ์ทางศาสนาอิสลามอีกด้วย ท่านเป็นอุลามาอ์ที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งที่ชาวอินโดนีเซียและมาเลเซียรู้จักดีคือ Raden Rahmat ซึ่งย่อมาจาก Raden Rahmatullah หรือที่คนทั่วไปจะเรียกอย่างให้เกียรติด้วยสมญานามของท่าน ในชื่อ “Sunan Ampel” และเป็นผู้ที่มีสายเลือดนับย้อนได้จนถึง ท่านศาสดานบีมุฮำมัด (ซล.)
        จากข้อมูลที่ได้รับทราบมานั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้ที่ใช้นามสกุล “สุไลมาน” คือผู้ที่สืบสายเลือดโดยตรงจาก สุลต่านสุไลมาน ชารีฟุดดีน เป็นราชนิกูลเมืองเมืองปตานีดั้งเดิม ส่วนผู้ที่ใช้นามสกุล “ระเด่นอาหมัด” คือสายตระกูลเลือดผสมระหว่างราชนิกูลปตานีและราชนิกูลบันเตินนั่นเอง
Walahu A'lam อัลลอฮ์....เท่านั้นที่ทรงทราบดี
Ibn. Ahmad
  February 15, 2012