วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรือ นกยูงทอง ที่ ซี.เอส.ปัตตานี

ขอสันติจงมีแด่ทุกท่าน
     เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรมชายแดนใต้ นัดรวมพลสมาชิกกลุ่มเพื่อร่วมกันทำงานวิจัยเรื่อง  “ภูมิวัฒนธรรม” ที่โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงานด้วย
     โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี เป็นโรงแรมอันดับต้นๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลาที่มีการจัดเวทีสัมมนาฯ, อบรม, การทำงานทางวิชาการ หรือแม้กระทั่งการต้อนรับแขกเมืองที่มาจากต่างแดน โรงแรม ซี.เอส.มักจะเป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆเสมอ ดังนั้นโรงแรม ซี.เอส.จึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการทั้งภายในและภายนอกจังหวัด
     โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานีนั้น ผมเข้าใจเอาเองว่า ทางโรงแรมคงตั้งใจจะเน้นการตกแต่งภายใน ในบรรยากาศแบบมลายู โดยเฉพาะมลายูปตานี แต่เมื่อผมเดินเข้าไปในบริเวณโถงต้อนรับภายในโรงแรม ผมแทบจะไม่พบของตกแต่งใดๆที่เป็นมลายูปตานีเลย ยกเว้นกรงนกหัวจุก แม้กระทั่งเพลงบรรเลงที่เปิดวนไปวนมาทั้งวันภายในลิฟท์และโถงทางเดิน ที่ผมคาดหวังว่าจะได้ยินการบรรเลงเพลงมลายูปตานี โดย แวขาเดร์ ศิลปินแห่งชาติชาวปัตตานี ก็กลับกลายเป็นเพลง Kacapi - Suling ของซุนดาในชวาตะวันตก (Jawa Barat)
     แต่สิ่งที่เห็นแล้วถึงกับต้องหยุดดู ก็คือ เรือไม้โบราณที่ตั้งเด่นอยู่กลางห้องโถง มีป้ายเล็กๆอยู่ด้านในลำเรือเขียนติดคำอธิบายว่า “เรือ Merak Mas แปลว่า เรือนกยูงทอง เป็นเรือที่ใช้ในกลันตัน” ซึ่งผมก็เข้าใจเอาเองอีกว่า คงจะพยายามเชื่อมโยงให้เข้าใจว่า ศิลปะแบบกลันตันก็คือศิลปะแบบปตานี เป็นศิลปะแบบเดียวกันที่แยกแทบไม่ออก
     ที่จริงแล้ว นกยูงไม่ได้เป็นศิลปะของมลายู ทั้งในปตานี กลันตันและตรังกานู นกที่ใช้ในงานศิลปกรรมของมลายูแถบนี้ในอดีต คือ Burong Gagak Suara (บุรงฆาเฆาะอ์ซูรอ) ซึ่งเป็นนกในวรรณคดี คล้ายๆกับนกหัสดีลึงค์ในวรรณคดีไทย ส่วนเรือในโถงโรงแรม ซี.เอส.ที่อธิบายว่าเป็นเรือ Merak Mas นั้น ที่จริงคือ Perahu Sekoci ซึ่งเป็นเรือประมงขนาดเล็กสำหรับตกปลา ไดหมึก และลากอวน ที่นิยมใช้กันในเมืองตรังกานู

                          
เรือ Merak Mas ตั้งแสดงที่ โรงแรม ซี.เอ.ปัตตานี 


เรือ Sekoci ตั้งแสดงที่ Museum Negara: Kuala Lumpur Malaysia

Wa Allahu A’lam
Ibn. Ahmad
February 22, 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น